หมวดหมู่: บทวิเคราะห์
Asia Plus Group Holding
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
 
กลยุทธ์การลงทุน    
วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2562
เชื่อว่าอิทธิพลของเหตุการณ์ระเบิดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา น่าจะค่อยๆ จางหายไป ทั้งนี้ประเมินจากข้อมูลย้อนหลัง ประกอบกับความรุนแรงของเหตุการณ์ที่เป็นอยู่ นอกจากนี้ที่บริเวณ SET Index 1680 จุด ก็ถือเป็นแนวรับที่แข็งแกร่ง เนื่องจากมีค่า Market Earning Yield Gap เท่ากับค่าเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง สำหรับกลยุทธ์ยังให้ความสำคัญกับหุ้นที่มีปัจจัยบวกหนุนเฉพาะตัวและมี Downside จำกัด Top Picks ยังคงเลือก MCS (FV@9) และ ROBINS (FV@B70)
 
        SET Index    1,684.71
        เปลี่ยนแปลง (จุด)    -15.04
        มูลค่าการซื้อขาย (ล้านบาท)    82,045
            
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …ดัชนีถูกกดดันจากหลายปัจจัยลบ
วันศุกร์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยเปิดดิ่งกว่า 19 จุด ก่อนที่จะแกว่งทรงตัวตลอดวัน ถูกกดดันจากปัจจัยทั้งภายนอกและในประเทศ จนสุดท้ายปิดที่ระดับ 1684.71 จุด ลดลง 15.04 จุด (-0.88%) มูลค่าการซื้อขาย 8.20 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่กดดันตลาด คือ กลุ่มพลังงานเช่น EA(-1.87%) PTT(-2.65%) PTTEP(-2.59%) GULF(-1.59%) กลุ่มปิโตรฯอย่างเช่น IVL(-4.91%) PTTGC(-4.15%) และกลุ่มขนส่งอย่างเช่น AOT(-1.39%) PRM(-1.18%)  PSL(-5.52%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่อย่าง TRUE(-2.40%) TOA(-10.56%) และ CPN(-1.72%) เป็นต้น 
 
จากการศึกษาผลกระทบจากเหตุการณ์วางระเบิดในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ย้อนหลังในอดีตพบว่าในแต่ละครั้ง SET Index ปรับตัวลดลงในระดับที่ต่างกัน อยู่ในช่วงตั้งแต่ 1.2% (ปี 2560) - 10.6% (ปี 2553) ส่วนช่วงเวลาที่ได้รับผลกระทบอยู่ในช่วง 1 – 5 วัน ซึ่งจากรูปแบบของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ หากเทียบกับในอดีตเห็นว่ามีระดับความรุนแรงไม่มาก อีกทั้งไม่มีเหตุการณ์ต่อเนื่องเกิดขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ SET Index วันศุกร์ที่ผ่านมาก็ได้ปรับตัวลดลงแรงไปแล้ว จึงเชื่อว่าผลกระทบน่าจะจำกัดและค่อยๆ ลดอิทธิพลลงไป ส่วนพัฒนาการของอีก 1 เรื่องที่น่าสนใจได้แก่การเปลี่ยนแปลงของ Bond Yield ที่พบว่าปรับลดลงมาค่อนข้างเร็วโดย Bond Yield 10 ปีของสหรัฐฯ และไทยลดลงมาอยู่ที่ 1.86% และ 1.79% ตามลำดับ ทั้งนี้ในส่วนของไทยจะเห็นว่าได้ปรับลดลงมาอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งถือว่าต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมาก ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะไปสร้างแรงกดดันให้ Fund Flow ปรับทิศทางให้ไหลกลับเข้ามาสู่ตลาดหุ้นมากขึ้น เนื่องจากหากมองในมุมของ Market Earning Yield Gap พบว่าปัจจุบันให้ค่าอยู่ที่ 4.26% ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลังที่ 4.28% โดยหากยืนตัวเลข Yield Gap เท่ากับค่าเฉลี่ยย้อนหลังดังกล่าว ก็จะคำนวนออกมาได้เป็น SET Index อยู่ที่ราว 1680 จุด ภายใต้องค์ประกอบดังกล่าวจึงเชื่อว่าที่บริเวณ 1680 จุด น่าจะเป็นแนวรับที่แข็งแรงของ SET Index กลยุทธ์การลงทุนวันนี้ ฝ่ายวิจัยไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุน ขณะที่ Top Pick ยังคงเป็น 2 บริษัทเดิมได้แก่ MCS และ ROBINS
 
ความตึงเครียดในอิหร่านหนุนราคาน้ำมันดิบช่วงสั้นๆ 
ราคาน้ำมันดิบโลกพลิกกลับมาฟื้นตัวช่วงสั้นๆเฉลี่ย 2% จากปัจจัยทางด้าน Supply คือความตึงเครียดในตะวันออกกลางกลับมาอีกครั้ง หลังอิหร่านเข้ายึดเรือขนส่งน้ำมันต่างชาติในอ่าวเปอร์เซีย เนื่องจากกล่าวหาว่ากำลังลักลอบขนส่งน้ำมันไปยังชาติอาหรับบางประเทศ ทั้งนี้ การยึดเรือขนส่งน้ำมันดังกล่าว นับเป็นการยึดเรือน้ำมันครั้งที่ 3 ตั้งแต่เดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มต้นจากทางอังกฤษยึดเรือน้ำมันอิหร่าน ส่งผลให้อิหร่านตอบโต้ด้วยการยึดเรือน้ำมันอังกฤษเช่นกัน และกลุ่มประเทศ  OPEC และ Non OPEC ขยายระยะเวลาตัดลดกำลังการผลิต 1.2 ล้านบาร์เรล/วันออกไปจนถึง  31 มี.ค. 2563  
อย่างไรก็ตามฝั่ง Demand ราคาน้ำมันถูกกดดันจากความกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ตามผลกระทบของสงครามการค้าสหรัฐกับจีน หลังเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน ประธาธิบดีทรัมป์ทวิตข้อความ ระบุเตรียมขึ้นภาษีนำเข้าต่อจีนอัตรา 10% ในรอบที่ 4 วงเงิน 3 ล้านเหรียญฯ มีผลวันที่ 1 ก.ย. 2562 ซึ่งส่งผลให้ล่าสุด ทางจีนได้ออกมาประกาศพร้อมตอบโต้สหรัฐ หากภาษีรอบที่ 4 มีผลบังคับใช้จริง
ในภาพรวมทำให้ ราคาน้ำมันดูไบปรับลดลง ฟื้นตัว 2.4% ล่าสุดราคาปิดศุกร์ที่ผ่านมา  58.7  เหรียญฯ  หรือเฉลี่ยนับตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 63.72 เหรียญฯ  แต่ยังสูงกว่าสมมติฐานที่  ASPS  คาด 60 เหรียญฯ   ในปี 2562 และนับจากปี 2563  เป็นต้นไปคาดที่ 65 เหรียญฯ  กลยุทธ์การลงทุนหุ้นพลังงาน-โรงกลั่น แนะนำชะลอการลงทุนการลงทุนออกไปก่อน เนื่องจากราคาน้ำมันดิบยังมีโอกาสอ่อนตัว และผลประกอบการงวด 2Q62 คาดอ่อนตัวจากงวดก่อนหน้า  เนื่องจากจะมีการบันทึกขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน Stock loss  
เหตุระเบิดปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผลกระทบต่อ SET Index จะค่อยๆ หายไป
ปลายสัปดาห์ที่แล้วสรุปเหตุการณ์ระเบิดคือ  1.) BTS ช่องนนทรีมีผู้บาดเจ็บ 2 รายและรถยนต์เสียหาย   2.) ศูนย์ราชการหลัก 4  และจุดอื่นๆอาทิ  ซอยพระราม 9, ใต้บันได BTS ศาลาแดง (พบว่าเป็นกล่องนาฬิกา),ใกล้สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์หัวหมาก (สรุปเป็นกระเป๋านักท่องเที่ยว) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ   
ASPS เชื่อว่าเหตุการณ์ระเบิดในรอบนี้น่าจะเป็นเหตุการณ์ระยะสั้น และกระทบต่อ Sentiment เชิงลบต่อ SET Index ช่วงสั้นเท่านั้น  เนื่องจากเหตุการณ์ไม่ขยายวง อีกทั้งระดับความรุนแรงก็อยู่ในรัดบที่จำกัด   
กรณีที่ Set Index จะปรับฐานจากเหตุระเบิดรุนแรง และกินระยะเวลายาวนาน พิจารณาจากข้อมูลในอดีตส่วนใหญ่ จะสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองและมีสัญญาณของความรุนแรงอยู่ก่อนหน้า อาทิ รอบ 31 ธ.ค. 2549-1 ม.ค.2550 ซึ่งอยู่ในช่วงระหว่างรัฐประหาร  พบว่า SET ปรับลดลงติดต่อกัน 5 วันราว 9.3%
Time line เหตุการณ์ระเบิดใน กทม.ตั้งแต่ในอดีต-ปัจจุบัน VS  Set index
 
แต่เหตุระเบิดสร้าง Sentiment เชิงลบต่อบางอุตสาหกรรม 
เหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้นในอดีตทุกๆครั้ง พบว่า Sector ที่จะได้รับผลกระทบเชิงลบ หลักๆ คือ กลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรม, กลุ่มขนส่งทางอากาศ, กลุ่มร้านอาหาร, กลุ่มค้าปลีก-ค้าส่ง และ กลุ่มโรงพยาบาล รายละเอียดดังนี้ 
กลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรม ได้ผลกระทบโดยตรงโดยเฉพาะกลุ่มนักท่องที่ยวที่มีความอ่อนไหวต่อเหตุการณ์ร้ายแรง โดยเฉพาะนักท่องที่ยวจีน อันดับ1 ของไทย ราว 28%ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งน่าจะกดดันต่อราคาหุ้น โดยเฉพาะ ERW(FV@8) เนื่องจากโครงสร้างรายได้พึ่งพาโรงแรมราว 94% (แบ่งเป็น 57% โรงแรมในกทม.  อีก 38% โรงแรมในตจว. และ ตปท.อีก 2%) , CENTEL(FV@45)
ขณะที่ MINT(FV@47) กระทบน้อยกว่า เนื่องจากโครงสร้างธุรกิจหลากหลาย  คือ มาจากธุรกิจร้านอาหาร  ขณะที่รายได้จากโรงแรมในกรุงเทพราว 10% ของรายได้จากการดำเนินงานทั้งหมด และส่วนใหญ่ไปขยายโรงแรมในต่างประเทศ คือ  NH Hotel 
กลุ่มขนส่งทางอากาศ เชื่อว่าจะเพียงเป็น Sentiment ลบต่อกลุ่มเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากกรณีเลวร้ายบานปลายและนำไปการแจ้งเตือนนักท่องเที่ยวต่างชาติวงกว้าง จะส่งผลกระทบการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวใน 2H62 จากฐานต่ำปีก่อนจำกัดกว่าที่ประเมินไว้ และจะกระทบต่อประมาณการหุ้นการบินทั้งหมด ที่ฝ่ายวิจัยตั้งสมมติฐานปริมาณจราจร โดยรวมผลบวกการฟื้นตัวจากฐานต่ำปีก่อน 
อย่างไรก็ตามเบื้องต้น ASPS ยังคงประมาณการเดิมไปก่อน แต่จากการศึกษาผลกระทบความอ่อนไหวอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสารทุกๆ 1% ที่เปลี่ยนแปลงไปจากประมาณการเดิม ขณะที่ AOT เป็นการกำหนดการเติบโตของผู้ใช้บริการทุกๆ 1% ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จะกระทบต่อกำไรสุทธิปี 2562 ลดลงจากประมาณการเดิมของ  AOT, AAV,BA ลดลง 1.4%, 23%, 70.6% ส่วน THAI พลิกจากกำไรเป็นขาดทุน ตามลำดับ  ขณะที่กระทบมูลค่าพื้นฐาน AOT, AAV, BA และ THAI ลดลง 1%, 8.0%, 4.2% และ 11.1% ตามลำดับ จากมูลค่าพื้นฐานปัจจุบัน (AOT(FV@B80), AAV(FV@B4.7), BA(FV@B16.7), THAI (FV@B9.0) โดย AOT กระทบจำกัดสุด เนื่องจากมีฐานรายได้กระจายตัวจากการที่มีธุรกิจเชิงพาณิชย์ จึงเชื่อว่าเป็นโอกาสทยอยสะสม ลงทุนระยะยาว หากราคาหุ้นปรับฐานรับข่าวลบดังกล่าว
กลุ่มร้านอาหาร   ในอดีตกระทบ M(FV@84) คือ กระทบต่อยอดขายร้านอาหาร  พิจารณาในอดีต  เหตุระเบิดราชประสงค์ปี 2558 พบว่ายอดขายของ MK หดตัวแรง คือ งวด 3Q58 หดตัว 12% จากหดตัว 4% งวด 2Q58 จาก 0%ในงวด 1Q58 เช่นเดียวกับ ยาโยอิคืองวด 3Q58 หดตัว 3% จากที่ขยายตัว 3% งวด 2Q58 จาก 2%ในงวด 1Q58 
กลุ่มค้าปลีก-ค้าส่ง เชื่อว่า  Sentiment ลบต่อกลุ่มฯ  แต่คาดกระทบจำกัดหากเกิดขึ้นเพียงช่วงสั้น แต่กรณีเลวร้าย หากสถานการณ์บานปลายต่อและนำไปสู่การแจ้งเตือนนักท่องเที่ยวต่างชาติในวงกว้าง อาจกระทบต่อหุ้นค้าปลีกที่มีรายได้จากการนักท่องเที่ยว คือ BEAUTY  ที่มีสัดส่วนยอดขายนักท่องเที่ยวจีนราว 5-10%ของยอดขายรวมทั้งหมด รวมถึง MAKRO และ BJC ที่มียอดขายกลุ่ม HORECA  (โรงแรมร้านอาหารคาเฟ่) 29% และ 7.2% ตามลำดับ ซึ่งอาจกระทบต่อสมมติฐานยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ที่ประมาณการปัจจุบันได้รวมผลบวกการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวในช่วง 2H62 จากฐานที่ต่ำด้วย 
ทั้งนี้จากการศึกษาผลกระทบความอ่อนไหว SSSG ทุกๆ 1% ที่เปลี่ยนแปลงไปจากประมาณการเดิม พบว่า จะกระทบต่อกำไรสุทธิปี 2562 ลดลงจากประมาณการเดิมของ  BEAUTY ลงราว 0.7%, MAKRO 1.7% และ BJC 0.6% ตามลำดับ ขณะที่กระทบมูลค่าพื้นฐานปัจจุบัน BEAUTY, MAKRO และ BJC ลดลง 0.9%, 1.1% และ 0.5% ตามลำดับ จากมูลค่าพื้นฐานปัจจุบัน BEAUTY (FV@B3.5), MAKRO (FV@B35) และ BJC (FV@B61) โดยคาด BJC กระทบจำกัดสุด จากการมีฐานธุรกิจที่หลากหลาย เชื่อว่าเป็นโอกาสสะสม หากราคาหุ้นปรับตัวลดลง
กลุ่มโรงพยาบาล เชื่อว่ากระทบระยะสั้นในเชิงจิตวิทยาต่อการตัดสินใจเดินทางมารักษาในประเทศไทยได้บ้าง โดย BH, BDMS,PR9 และ BCH มีสัดส่วนรายได้จากผู้ป่วยต่างชาติราว  67%ของรายได้การรักษา, 33%, 15% และ 10% ตามลำดับ โดยเฉพาะ BH นอกจากจะมีสัดส่วนผู้ป่วยต่างชาติมากสุดแล้ว ยังมีทำเลเพียงใจกลางกรุงเทพมหานครเพียงแห่งเดียว ตรงข้ามกับ BDMS ที่มีจุดเด่นในแง่การกระจายความเสี่ยงด้านทำเลที่หลากหลาย โดยหากผู้ป่วยที่ไม่มั่นใจในสถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพฯ ก็ยังสามารถไปรักษาในทำเลอื่นๆได้ อีกทั้งผู้ป่วยต่างชาติกว่า 50%เป็นกลุ่ม Expat.(คนต่างชาติที่ทำงานในไทย)  ที่อยู่แล้ว  เช่น ชาวญี่ปุ่น และ USA เป็นต้น โดยรวมเชื่อว่ากระทบ Sentiment เชิงลบระยะสั้น โดยหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล ASPS  หุ้น Top picks  เลือก RJH (FV@B32) ที่มีทำเลอยู่อยุธยา และไม่ได้พึ่งพาตลาดผู้ป่วยต่างชาติ และแนวโน้มผลการดำเนินงานเติบโตโดดเด่น
 
หลากหลายความกังวลกดดัน เงินทุนไหลเข้าสินทรัพย์ปลอดภัย
ตลาดหุ้นผิดหวังกับ Fed ที่ไม่ได้ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยในอนาคตอย่างชัดเจน และสงครามการค้าจีนสหรัฐที่ยังยืดเยื้อ โดยสหรัฐขู่เรียกเก็บจีนรอบที่ 4 วงเงิน 3 แสนล้านเหรียญ ที่อัตรา 10% รวมถึงหากสหรัฐขึ้นภาษีจริง ทางจีนเองพร้อมตอบโต้เช่นกัน
ความไม่แน่นอนดังกล่าว กดดันให้นักลงทุนโยกย้ายเงินลงทุนเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น สังเกตได้จาก Bond Yield 10 ปี ในหลายประเทศปรับตัวลงแรง เช่น Bond Yield 10 ปีของสหรัฐเหลือเพียง 1.86% (ต่ำสุดในรอบ 2 ปี 10 เดือน), ไทย 1.79% (ต่ำสุดในรอบ 3 ปี 4 เดือน) รวมถึงอีกหลายประเทศที่ Bond Yield 10 ปี ติดลบ คือ เยอรมนี -0.5% ฝรั่งเศส -0.24% และญี่ปุ่น -0.16%
 
 
ในอีกมุมหนึ่งพบว่า ความกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัวกดดันให้ Bond Yield 10 ปี ของสหรัฐ อยู่ที่ 1.86% ต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.25% อยู่มาก และ Bond Yield 10 ปี ณ ปัจจุบันยังอยู่ในระดับเดียวกับในอดีตปี 2559 ซึ่งดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐที่ระดับเพียง 0.5% เท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนมีความกังวลต่อประเด็นสงครามการค้า รวมถึงวัฎจักรดอกเบี้ยขาลงเป็นอย่างมาก
 
 
อย่างไรก็ตามการเข้าสู่วัฎจักรดอกเบี้ยขาลง หรือหลายๆประเทศออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ช่วยลดทอนผลกระทบเศรษฐกิจชะลอตัว และถ้าหากประเด็นสงครามการค้าคลี่คลาย ด้วยดัชนีหุ้นไทยที่ปรับฐานลงมา รวมถึงภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ ช่วยหนุนให้ Earning Yield Gap ตลาดหุ้นไทยกว้างขึ้น ล่าสุดอยู่ที่ 4.26% โดยฝ่ายวิจัยประเมินแนวรับตลาดหุ้นไทยจาก Earning Yield Gap ที่ 4.28% (เฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี) ที่ 1680 จุด และแนวรับถัดไปจาก Earning Yield Gap ที่ 4.40% (จุดต่ำสุดในปี 2562 นี้) ที่ 1650 จุด เชื่อว่า Fund Flow มีโอกาสช่วยพยุงดัชนีตามแนวรับดังกล่าว ตราบที่ปัจจัยต่างๆอยู่ในภาวะปกติ 
 
ระวัง !! แรงขายหุ้นที่มี Block Trade สูง
ในภาวะ SET Index อยู่ในภาวะแกว่งผันผวนสูง หนึ่งในกลุ่มหุ้นที่นักลงทุนควรเพิ่มความระมัดระวังในการเข้าลงทุน คือ หุ้นที่มีมูลค่าคงค้างในธุรกรรม Block Trade  หรือมีสถานะคงค้าง (OI) ใน Single Stock Futures (SSF) ระดับสูงเพราะหากเกิดแรงขายทำกำไรออกมาเชื่อว่าจะมีโอกาสเกิดความผันผวนมากกว่าปกติ โดยฝ่ายวิจัยฯ ได้คัดกรองกลุ่มหุ้นที่เข้าเกณฑ์ข้างต้น โดยแบ่งเป็น 2แง่มุมดังนี้
1.หุ้นที่มีมูลค่าคงค้างใน Block Trade สูงสุด 10 ลำดับแรก และให้ผลตอบแทนตั้งแต่ 23 พ.ค. 62 จนถึงปัจจุบันเพิ่มขึ้นกว่า 10% 
  
 
2. หุ้นที่มีสถานะคงค้าง (OI) ปัจจุบันใน SSF ใกล้เคียงกับสถานะคงค้าง (OI) สูงสุดเดิมตั้งแต่ต้น 2562  10 อันดับแรก  โดยที่ให้ผลตอบแทนตั้งแต่ 23 พ.ค. 62 จนถึงปัจจุบันเพิ่มขึ้นกว่า 10%  
 
  
ทั้งนี้หุ้นในกลุ่มดังกล่าวที่ควรเพิ่มระมัดระวังเป็นพิเศษหรือหลีกเลี่ยงการลงทุนในระยะสั้น คือ JAS GULF EPG STPI TKN EGCO และ CBG* เพราะนอกจากจะมีมูลค่าคงค้างใน Block Trade และสถานะคงค้าง (OI) ใน SSF ในระดับสูงแล้ว หากเปรียบเทียบกับมูลค่าพื้นฐานฝ่ายวิจัยฯประเมินยังพบว่าราคาปัจจุบันสูงกว่า FV เกิน 10% ทั้งนี้ CBG* เป็นหุ้นที่ฝ่ายวิจัยฯไม่ได้ทำการศึกษาแต่ราคาปัจจุบันเกิน FV ของ Consensus 15.7%
เข้าสู่ช่วงประกาศ Earnings กลุ่ม Real Sector
นับจากนี้จะเห็นกลุ่ม real sector ทยอยประกาศงบ 2Q62 ออกมามากขึ้น โดยหลักๆ เริ่มที่กลุ่ม ICT อาทิ ADVANC, INTUCH, TRUE (พลิกมาขาดทุน) กลุ่มค้าปลีก ROBINS, BJC, CPALL กำไรลดลง QoQ จากค่าใช้จ่ายพนักงานตาม พ.ร.บ.ใหม่ เช่นเดียวกับกลุ่มพลังงาน-ปิโตรฯ ยังได้รับผลกระทบจาก Spread ผลิตภัณฑ์ปิโตรฯ ค่าการกลั่นลดลง และราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลง ทำให้เกิดการบันทึกขาดทุนสต๊อกน้ำมัน
กลยุทธ์ลงทุน แนะเลือกหุ้นที่มีแนวโน้มเติบโตดี และมีปัจจัยบวกเฉพาะตัว โดย Top Picks ในวันนี้ ฝ่ายวิจัยยังคงไว้ที่ 2 ตัวเดิมคือ ROBINS (FV@B 70.00) ลงทุนหุ้น ROBINS เสมือนจองซื้อหุ้น CRC ล่วงหน้า พร้อมล๊อค Yield เกือบ 5% 
และ MCS (FV@B 9.00) ทยอยประกาศงานใหม่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้ประกาศงานโครงการใหม่มาแล้ว 4 โครงการ ปริมาณส่งมอบรวม 4.23 หมื่นตัน และคาดจะเห็นงานโครงการใหม่ที่จะประกาศต่อจากนี้ ดังนั้นเมื่อรวมทุกโครงการ ประเมิน Backlog จะสูงถึง 1.5 แสนตัน เทียบกับสิ้นปี 2561 ซึ่งต่ำเพียง 3 หมื่นตัน ทำให้ฝ่ายวิจัยมีแนวโน้มปรับเพิ่มประมาณการกำไร ราคาหุ้นยังมี Upside 12.5% จากมูลค่าพื้นฐาน 9 บาท ขณะที่เดือน ส.ค. 62 นี้ น่าจะมีการกลับมาจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลได้ตามปกติ และคาดหวัง Div. Yield 6% ต่อปี
 
 
ภรณี ทองเย็น, CISA 
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม, 
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
 ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
   ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!