หมวดหมู่: การแพทย์-สธ

01 CFABAFVM


ฟัน !! วีเอ็ม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ขาดต่ออายุ แถมพบสารอันตราย

       ฟัน !! วีเอ็ม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หลังตรวจพบสถานประกอบการขาดต่ออายุใบอนุญาต สถานะผลิตภัณฑ์ถูกยกเลิกไปนานแล้ว ซ้ำยังได้รับข้อมูลจาก สสจ. ซึ่งเก็บตัวอย่างอาหารจากสถานที่จำหน่ายส่งตรวจวิเคราะห์คุณภาพ ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 พบสารไซบูทรามีน เข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ เตือนประชาชนอย่าซื้อมาบริโภคโดยเด็ดขาด อันตรายถึงชีวิต

   นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ตามที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างอาหารจากสถานที่จำหน่ายเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์คุณภาพมาตรฐาน ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 ผลการตรวจสอบพบวีเอ็ม (VM) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ฉลากระบุเลขสารบบอาหาร 13-125561-50004 รุ่นวันผลิต 08/03/2019 วันหมดอายุ 08/03/2021 ผลิตโดย บริษัท นันทะพล จำกัด เลขที่ 38/14 หมู่ 2 ตำบลหน้าไม้ อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ซึ่งสถานะผลิตภัณฑ์ถูกยกเลิก แต่สถานะใบอนุญาตสถานที่คงอยู่ และวีเอ็ม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ฉลากระบุเลขสารบบอาหาร 13-1-05459-5-0176 รุ่นวันผลิต 10/10/2018 วันหมดอายุ 10/10/2020 ผลิตโดย บริษัท ฟู้ด ซายน์ ซัพพลาย เซอร์วิส จำกัด เลขที่ 99/29 หมู่ 2 ตำบลสามโคก อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ซึ่งไม่ปรากฏข้อมูลผลิตภัณฑ์ในระบบตรวจสอบการอนุญาตของ อย. และสถานะของสถานที่ผลิตเลขสถานที่ 13-1-05459 ขาดต่ออายุ ตั้งแต่วันที่ 03/01/2562 นอกจากนี้ยังพบว่าผลิตภัณฑ์ ทั้ง 2 รายการ ตรวจพบสารไซบูทรามีน

     ทั้งนี้ ไซบูทรามีนเป็นสารที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะต่อผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดโรคความดันโลหิต โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคตับ โรคไต โรคต้อหิน หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร โดยผลข้างเคียงจากการใช้ไซบูทรามีน เช่น นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ วิตกกังวล ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว และหากได้รับในปริมาณมากอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ออกประกาศฯ กำหนดให้ไซบูทรามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 ซึ่งหากผลิต นำเข้า หรือ ส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีไซบูทรามีนเป็นส่วนผสมจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 500,000 - 2,000,000 บาท หากขายจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 - 20 ปี และปรับ ตั้งแต่ 400,000 – 2,000,000 บาท รวมถึงการครอบครองผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก็ถือว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายด้วย

     รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า วีเอ็ม (VM) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค เตือนประชาชน อย่าหลงเชื่อซื้อมารับประทานโดยเด็ดขาด หากต้องการลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและควบคุมอาหาร รวมทั้งออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ปัจจุบันมียาชนิดอื่นที่ใช้ในการลดน้ำหนักและมีความปลอดภัยมากกว่าไซบูทรามีน แต่ต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ ย้ำผู้ประกอบการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย หากตรวจพบการกระทำผิด อย. จะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานปราบปรามที่เกี่ยวข้องเพื่อกวาดล้างและจับกุมผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีอย่างเข้มงวดต่อไป

Click Donate Support Web

ais 790x90

GC 950x120

sme 720x90

banpu 720x90 new1 1

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!