หมวดหมู่: พาณิชย์

1aaaDBOT จุรินทร์


จุรินทร์ ทำได้ไวทำได้จริง จ่ายเงินชาวนา 90 วันจ่ายทันที !ประกันรายได้ผู้ปลูกข้าวรอบแรก ทั่วประเทศ 9,400 ล้านบาท

         นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานกดปุ่ม kick off จ่ายเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ให้ชาวนาทั้งประเทศวันนี้ซึ่งเป็นผู้ปลูกข้าวรอบแรก ซึ่งเป็นชาวนาที่ได้รับส่วนต่างราคา กว่า 349,000 ครัวเรือน งบประมาณทั้งสิ้น 9,400 ล้านบาท โดยใช้ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2562 / 2563 รอบที่ 1 เป็นเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนวันที่ 16 ตุลาคม 2562

        นายจุรินทร์ กล่าวว่า โครงการประกันรายได้ผู้ปลูกข้าวเป็นหนึ่งในโครงการของรัฐบาลที่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และตนคือนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เป็นผู้ดำเนินการและวันนี้ครบ 90 วันสามารถจ่ายเงินส่วนต่างรอบแรกได้แล้ว ซึ่งโครงการนี้รัฐบาลจะทำการประกันรายได้พืชเศรษฐกิจ 5 ชนิด คือ ปาล์มน้ำมัน ข้าว ยางพารามันสำปะหลัง และข้าวโพด ส่วนพืชผลตัวนั้นก็ดูแลเช่นกันด้วยนโยบายอื่นอีก และประกันรายได้ที่ได้ดำเนินการไปแล้วคือปาล์มน้ำมัน ซึ่งพืชแต่ละชนิดจะทยอยดำเนินการตามความเหมาะสม

       สำหรับ การประกันรายได้ผู้ปลูกข้าวเพื่อชาวนานั้น คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 อนุมัติในหลักการโครงการ ประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 โดยรัฐบาลจะประกันรายได้ให้แก่ เกษตรกร ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 25 ตัน และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 16 ตัน

      " พี่น้องชาวนาจะได้เงิน 2 กระเป๋า คือเงินจากการขายข้าว และเงินส่วนต่างหากราคาในตลาดไม่ถึงที่ประกันรายได้ไว้ และสำหรับชาวนาที่น้ำท่วมเจอภัยพิบัติก็ได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาลตามสิทธิคู่กันไปด้วยโดยรับเงินส่วนต่างตามโครงการนี้ด้วยเช่นกัน "

      รายงานข่าวกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2562 คณะอนุกรรมการกํากับดูแลและกําหนดเกณฑ์ กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้มีมติเห็นชอบการกําหนดราคา เกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกร ผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 ในงวดที่ 1 ซึ่งราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงข้าวเปลือกหอมมะลิ อยู่ที่ตันละ 16,723.09 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ อยู่ที่ตันละ 15,651.05 บาท ข้าวเปลือกเจ้า อยู่ที่ตันละ 7,530.36 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี อยู่ที่ตันละ 10,216.55 บาท และข้าวเปลือกเหนียว อยู่ที่ตันละ 18,926.86 บาท

       ดังนั้น จึงส่งผลให้รัฐบาลต้องจ่ายชดเชยส่วนต่างในข้าวเปลือก 2 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 2,469.64 บาท และ ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 783.45 บาท ส่วนชนิดที่เหลือนั้นอยู่ในเกณฑ์ราคาสูงเลยเพดานของราคาประกัน ทั้งนี้ การจ่ายเงินชดเชยงวดแรก ธ.ก.ส. จะโอนเงินชดเชยเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง ซึ่งเกษตรกรจะสามารถเบิกถอนเงินได้ทันทีภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 ซึ่งในงวดแรก มีเกษตรกรได้รับเงินชดเชยจากข้าวเปลือกเจ้าและข้าวเปลือกหอมปทุมธานี จํานวน ประมาณ 349,000 ครัวเรือน วงเงินชดเชยประมาณ 9,400 ล้านบาท

      นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน หลังจากการเปิด Kick off ประกันรายได้ผู้ปลูกข้าววันนี้ด้วยว่า ถือว่าเป็นวันประวัติศาสตร์ เป็นวันแรกที่ได้มีการโอนเงินส่วนต่าง ตามนโยบายประกันรายได้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวของรัฐบาล ถ้าจากนี้ไปก็จะมีการโอนเงินทุก 15 วัน งวดนี้ถือว่าเป็นงวดแรก โดยงวดถัดไปเป็นวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 และต่อไปก็วันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 และงวดถัดไปดำเนินการจนครบฤดูกาลผลิตนี้ เงินส่วนต่างที่โอนให้เกษตรกรนั้นงวดนี้ ครัวเรือนที่เงินสูงสุดได้ถึง 74,000 บาท และลดหลั่นกันไปตามข้อเท็จจริงและของคุณภาพข้าวและจำนวนปริมาณผลผลิตของชาวนาแต่ละครอบครัวเรือน

     สำหรับ การจ่ายเงินในวันนี้ ทั้งนี้เพื่อพิสูจน์ว่านโยบายประกันรายได้ของรัฐบาลสามารถทำได้ไว ทำได้จริง เพราะสามารถโอนเงินส่วนต่างงวดแรกได้ภายในแค่ 90 วัน นับแต่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งสำหรับการประกันรายได้เกษตรกรที่ปลูกข้าวนี้เป็นหนึ่งใน 5 ตัวที่รัฐบาลมีนโยบายประการ คือ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด และปาล์มน้ำมัน สำหรับปาล์มน้ำมันนั้น ได้มีการโอนเงินส่วนต่าง งวดแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมาและต่อไปก็จะโอนไปเรื่อยๆ จนครบทั้งหมด 8 งวดด้วยกันในแต่ละปีสำหรับปาล์มน้ำมัน

       สำหรับ ยางพารา วันนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้วโดยประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกยางสำหรับยางแผ่นดิบชั้นสามกิโลละ 60 บาท น้ำยางสดกิโลละ 57 บาท ยางก้อนถ้วยกิโลละ 23 บาท ซึ่งได้กำหนดให้จ่ายเงินส่วนต่างตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน สำหรับยางที่ต้องใช้เวลา 15 วันก็เพราะว่าจะต้องทยอยตรวจสอบ ซึ่งให้เวลาการยางแห่งประเทศไทย ตรวจสอบ 15 วัน หากตรวจเสร็จก็จะโอนเงินทันทีผ่าน ธ.ก.ส. เข้าบัญชีเกษตรกร เตรียมไว้ 24,000 ล้านบาท จ่ายทั้งหมด 6 งวด

ครม.ไฟเขียวประกันรายได้ชาวสวนยาง วงเงิน 2.4 หมื่นล้าน เริ่มจ่ายงวดแรก 1-15 พ.ย.นี้

       ครม.ไฟเขียวโครงการประกันรายได้ชาวสวนยางพารา วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท จำนวน 3 ชนิด ยางแผนดิบ 60 บาท น้ำยางสด 57 บาท และยางก้อนถ้วย 23 บาท ครอบคลุมชาวสวนยาง 1.4 ล้านคน เริ่มจ่ายส่วนต่างวันที่ 1-15 พ.ย. แบ่งสัดส่วนรายได้ เจ้าของสวน 60% คนกรีดยาง 40% เผยยังเปิดโอกาสให้ขึ้นทะเบียนได้เพิ่มเติมด้วย

        นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา โดยประกันรายได้ยางแผ่นดิบกิโลกรัม (กก.) ละ 60 บาท น้ำยางสด กก.ละ 57 บาท ยางก้อนถ้วย กก.ละ 23 บาท ซึ่งได้กำหนดให้จ่ายเงินส่วนต่างตั้งแต่วันที่ 1-15 พ.ย.2562 ส่วนที่ต้องใช้เวลา 15 วัน เพราะจะต้องทยอยตรวจสอบ ซึ่งให้เวลาการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ตรวจสอบ 15 วัน เมื่อตรวจเสร็จ ก็จะโอนเงินส่วนต่างทันทีผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เข้าบัญชีเกษตรกร โดยเตรียมวงเงินไว้ 24,000 ล้านบาท จ่ายทั้งหมด 6 งวด

      ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา ระยะที่ 1 วงเงินงบประมาณ 24,000 ล้านบาท ครอบคลุมเกษตรกรจำนวน 1,400,000 คน พื้นที่ปลูกยางพารา 17 ล้านไร่ กำหนดระยะเวลาประกันรายได้ 6 เดือน ตั้งแต่เดือนต.ค.2562 ถึงมี.ค.2563 โดยประกันรายได้ในยาง 3 ชนิด คือ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคา 60 บาทต่อกก. น้ำยางสด (DRC 100%) ราคา 57 บาท/กก. และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ราคา 23 บาท/กก.

       ทั้งนี้ กำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้ 240 กก./ไร่/ปี หรือ 20 กก.ไร่/เดือน โดยเกษตรกรจะต้องขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับ กยท. ก่อนวันที่ 12 ส.ค.2562 และเปิดโอกาสให้เกษตรกรชาวสวนยางแจ้งขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กยท. กำหนด โดยต้องเป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว สูงสุดรายละไม่เกิน 25 ไร่ โดยแบ่งสัดส่วนรายได้ เจ้าของสวน 60% และคนกรีดยาง 40%

                นอกจากนี้ ครม. ยังได้อนุมัติอีก 4 โครงการ คือ 1.ขยายวงเงินสินเชื่อโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ปะกอบการผลิตภัณฑ์ยาง วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท โดยอนุมัติวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมจำนวน 1 หมื่นล้านบาท รวมวงเงินสินเชื่อของโครงการ 2.5 หมื่นล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2563–2569 , 2.ขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยางแห้ง วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ออกไปอีก 2 ปี คือ ตั้งแต่เดือนม.ค.2563 ถึงธ.ค.2564 , 3.ขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง วงเงินสินเชื่อ 1 หมื่นล้านบาท ออกไปอีก 4 ปี คือ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2563 ถึง 31 มี.ค.2567 โดยมีระยะเวลาจ่ายเงินกู้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2563 ถึง 31 ธ.ค.2566 และกำหนดระยะเวลาชำระคืนเงินกู้คราวละไม่เกิน 12 เดือน นับแต่วันที่กู้ แต่ต้องไม่เกินวันที่ 31 มี.ค.2567 และ 4.ขยายระยะเวลาและปรับปรุงวิธีการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ ออกไปอีก 3 ปี คือ ตั้งแต่ต.ค.2562 ถึงก.ย.2565 เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ โดยคิดเป็นปริมาณน้ำยางสด จำนวน 1 ล้านตัน ตลอดระยะเวลาโครงการ 3 ปี

จุรินทร์ คิกออฟจ่ายส่วนต่างประกันรายได้ชาวนา ข้าวเจ้า-ข้าวหอมปทุมธานี รอรับเงิน

     จุรินทร์ คิกออฟจ่ายเงินประกันรายได้ชาวนาผู้ปลูกข้าว 15 ต.ค.นี้ 'ข้าวเปลือกเจ้า' ได้ส่วนต่างตันละ 2,469.64 บาท “ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี” ได้รับส่วนต่างตันละ 783.45 บาท ส่วนอีก 3 ชนิดไม่ได้ เหตุราคาตลาดสูงกว่าราคาประกันรายได้ ชี้เป็นผลดีกับเกษตรกร เพราะขายในตลาด ได้รับเงินเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากข้าวที่ขายได้ทุกเม็ด ไม่ต้องถูกจำกัดโควตารับเงินส่วนต่างตามเงื่อนไขโครงการ

         นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้กำหนดราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 งวดที่ 1 ประจำวันที่ 15 ต.ค.2562 เพื่อชดเชยส่วนต่างให้แก่เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสำหรับผู้ที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 16 ต.ค.2562 แล้ว โดยจะมีการจ่ายชดเชยรายได้ให้กับข้าวเปลือก 2 ชนิด คือ ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 2,469.64 บาท และข้าวเปลือกหอมปทุมธานีตันละ 783.45 บาท ส่วนอีก 3 ชนิด คือ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ และข้าวเปลือกเหนียว ไม่ชดเชย

     สำหรับราคาตลาดอ้างอิงที่นำมาใช้ในการคำนวณเพื่อจ่ายส่วนต่างประกันรายได้ ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 16,723.09 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 15,651.05 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 7,530.369 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 10,216.55 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 18,926.86 บาท

       ทั้งนี้ รัฐบาลได้ประกันรายได้ข้าวเปลือกจำนวน 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละ 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า 10,000 บาท ครัวเรือนละ 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละ 25 ตัน และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละ 16 ตัน แต่ถ้าเกษตรกรปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด จะได้สิทธิไม่เกินจำนวนขั้นสูงของข้าวแต่ละชนิด และเมื่อรวมกันต้องไม่เกินขั้นสูงของข้าวชนิดที่กำหนดไว้สูงสุด

                นายวิชัยกล่าวว่า เกษตรกรผู้ปลูกข้าวอีก 3 ชนิด ที่ไม่ได้รับเงินส่วนต่างประกันรายได้ ต้องบอกว่าเป็นข่าวดี เพราะสามารถขายข้าวได้ราคาดีกว่าราคาประกัน ทำให้ได้รับเงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย และยังไม่ถูกจำกัดโควตาที่จะได้รับตามที่โครงการกำหนดไว้ อย่างข้าวเปลือกหอมมะลิ กำหนดไว้ 14 ตันต่อครัวเรือน เกินกว่านี้ก็ไม่ได้ แต่ตอนนี้ ราคาตลาดสูงกว่าราคาประกัน ปลูกได้กี่ตัน ก็ขายได้ราคาตลาดทั้งหมด ถือว่ามีรายได้เต็ม ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะเร่งรัดผลักดันให้ราคาข้าวเปลือกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป

                ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 15 ต.ค.2562 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะลงพื้นที่ชี้แจงและมอบนโยบายโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลหลักชัย อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจะคิกออฟการจ่ายเงินประกันรายได้ชาวนาด้วย ซึ่งถือเป็นการจ่ายเงินงวดแรกสำหรับการประกันรายได้ข้าว โดยข้าวเปลือกเจ้าเกษตรกรจะได้ส่วนต่างคิดเป็นเงิน 74,089.20 บาท (2,469.64 คูณ 30 ตัน) และข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 19,586.25 บาท (783.45 คูณ 25 ตัน)

จุรินทร์ คิกออฟจ่ายเงินส่วนต่างประกันรายได้ให้ชาวนา 3.49 แสนครัวเรือน วงเงิน 9,400 ล้าน

     จุรินทร์ คิกออฟจ่ายเงินส่วนต่างประกันรายได้ข้าวให้ชาวนารอบแรก 3.49 แสนครัวเรือน งบประมาณ 9,400 ล้านบาท เผยใช้เวลาแค่ 90 วัน นับจากแถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยข้าวเปลือกเจ้าได้ส่วนต่างตันละ 2,469.64 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 783.45 บาท ระบุหากรับแบบเต็มโควตา ชาวนาปลูกข้าวเปลือกเจ้าจะได้เงินรวม 7.4 หมื่นบาท ข้าวเปลือกหอมปทุม 1.95 หมื่นบาท 

          นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการเป็นประธานกดปุ่มคิกออฟจ่ายเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ให้ชาวนาทั้งประเทศ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลหลักชัย อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ว่า วันนี้เป็นวันจ่ายส่วนต่างให้กับชาวนาผู้ปลูกข้าวรอบแรก ที่เก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนวันที่ 16 ต.ค.2562 จำนวน 349,000 ครัวเรือน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 9,400 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นความสำเร็จในการดำเนินโครงการ เพราะใช้เวลานับตั้งแต่รัฐบาลแถลงโครงการประกันรายได้ต่อรัฐบาลจนถึงวันนี้เพียงแค่ 90 วัน ก็สามารถจ่ายเงินส่วนต่างรอบแรกได้แล้ว

                สำหรับ โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติโครงการเมื่อวันที่ 27 ส.ค.2562 โดยประกันรายได้ข้าวเปลือก 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 25 ตัน และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 16 ตัน

       ทั้งนี้ รัฐบาลได้ดำเนินโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 ชนิด คือ ปาล์มน้ำมัน ได้ดำเนินการจ่ายเงินงวดแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2562 ข้าวเป็นตัวที่ 2 จ่ายส่วนต่างวันที่ 15 ต.ค.2562 และยางพารา ได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แล้ว คาดว่าจะจ่ายเงินงวดแรกได้วันที่ 1-15 พ.ย.2562 ส่วนมันสำปะหลังและข้าวโพด อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดการดำเนินโครงการ ขณะที่สินค้าเกษตรอื่นๆ จะมีมาตรการดูแลตามความเหมาะสม

     รายงานข่าวจากกรมการค้าภายใน แจ้งว่า เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2562 คณะอนุกรรมการกํากับดูแลและกําหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้มีมติเห็นชอบกําหนดราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 ในงวดที่ 1 ซึ่งราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงข้าวเปลือกหอมมะลิอยู่ที่ตันละ 16,723.09 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 15,651.05 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 7,530.36 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 10,216.55 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 18,926.86 บาท

       โดยจากราคาอ้างอิงดังกล่าว ส่งผลให้รัฐบาลต้องจ่ายชดเชยส่วนต่างข้าวเปลือก 2 ชนิด คือ ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 2,469.64 บาท และข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 783.45 บาท โดยข้าวเปลือกเจ้าเกษตรกรจะได้ส่วนต่างคิดเป็นเงิน 74,089.20 บาท (2,469.64 คูณ 30 ตัน) และข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 19,586.25 บาท (783.45 คูณ 25 ตัน) ส่วนอีก 3 ชนิดที่เหลือ ราคาสูงเลยเพดานของราคาประกัน จึงไม่มีการจ่ายชดเชย โดยการจ่ายเงินส่วนต่างงวดแรก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะโอนเงินชดเชยเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง ซึ่งเกษตรกรสามารถเบิกถอนเงินได้ในวันที่ 15 ต.ค.2562 และจากนี้ จะมีการคำนวณราคาทุก 15 วัน เพื่อเป็นราคาอ้างอิงจ่ายเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกร ซึ่งเกษตรกรจะได้รับเงินตามช่วงเวลาเก็บเกี่ยวที่ได้แจ้งไว้

จุรินทร์ ประชุมผู้บริหาร เตรียมพร้อมรับมืออภิปรายงบประมาณปี 63 ในส่วนของพาณิชย์

      จุรินทร์ ประชุมผู้บริหารพาณิชย์ เตรียมความพร้อมรับมือการอภิปรายงบประมาณปี 2563 ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ เผยปี 63 ได้งบ 9,812 ล้านบาท ลด 7.73% เหตุไม่ต้องตั้งงบดูแลข้าวในสต๊อกที่ค้างมาจากโครงการรับจำนำ หลังขายหมดเกลี้ยงไปแล้ว ย้ำงบประมาณส่วนใหญ่ จะใช้ขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วน 10 ข้อ ที่ได้มอบไว้ตั้งแต่เข้ามาทำงาน

      นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ ว่า ที่ประชุมได้เตรียมความพร้อมสำหรับการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ.2563 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 17-18 ต.ค.2562 โดยเฉพาะงบประมาณในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ที่ได้รับการจัดสรร 9,812 ล้านบาท ลดลง 599 ล้านบาท หรือลดลง 7.73% ซึ่งจะต้องมีการเตรียมการในด้านข้อมูลเพื่อชี้แจง หากมีการสอบถามมา

      ทั้งนี้ ในส่วนของงบประมาณปี 2563 ที่ได้รับลดลงนั้น เนื่องจากในปี 2563 ไม่มีการตั้งงบประมาณรายจ่ายสำหรับใช้ในการรักษาข้าวในสต๊อกที่ค้างมาจากโครงการรับจำนำข้าวที่ผ่านมา ซึ่งปกติจะใช้งบประมาณปีละประมาณ 1,500 ล้านบาท พอขายข้าวในสต๊อกได้หมด ก็ไม่มีภาระตรงนี้อีกต่อไป

      สำหรับ รายละเอียดการจัดงบประมาณของกระทรวงพาณิชย์ปี 2563 ส่วนใหญ่มุ่งเน้นการทำงานตามนโยบาย 10 ข้อที่ได้มอบไว้ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 7 ส.ค.2562 คือ การประกันรายได้ , การยกระดับร้านค้าปลีกรายย่อยเป็นสมาร์ท โชวห่วย , การเร่งรัดการส่งออกและการค้าชายแดน , การเจรจาการค้าเสรี , การเร่งรัดการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) , การขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ , การยกระดับการอำนวยความสะดวกทางการค้า , การดูแลราคาสินค้าและลริการ และค่าครองชีพ , การส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจบริการ และการขับเคลื่อนนโยบายผ่านกลไก 3 ฝ่าย

     นายจุรินทร์ ยกตัวอย่างว่า ในด้านการประกันรายได้ ขณะนี้มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยปาล์มน้ำมัน ได้จ่ายเงินงวดแรกไปแล้ววันที่ 1 ต.ค.2562 ข้าว วันที่ 15 ต.ค.2562 และยางพารา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติโครงการแล้ว จะจ่ายเงินงวดแรก 1-15 พ.ย.2562 ส่วนสินค้าอีก 2 ชนิด กำลังจะนัดประชุม 3 ฝ่าย โดยมันสำปะหลังนัดไว้ที่จ.อุดรธานี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่จ.เพชรบูรณ์ ขณะที่สินค้าเกษตรอื่นๆ มีมาตรการดูแลอย่างต่อเนื่อง ทั้งการดูแลราคาและเร่งหาตลาดส่งออก โดยเฉพาะผลไม้ จะเดินหน้าเปิดตลาดอินเดียและจีนให้ได้เพิ่มขึ้น

        ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ ความคืบหน้านโยบายเรื่องอื่นๆ ที่จะมีการดำเนินการต่อในปี 2563 เช่น การยกระดับร้านค้าปลีกรายย่อยเป็นสมาร์ท โชวห่วย จะมีการผลักดันให้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้และใช้ช่องทางออนไลน์ในการค้าขาย , การผลักดันการส่งออก จะเร่งรัดผลักดันการส่งออกไปยังประเทศเป้าหมาย และสินค้าเป้าหมายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการขับเคลื่อนการค้าชายแดน และยังได้เตรียมแผนรับมือสงครามการค้า และการออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ของอังกฤษ (Brexit)

        นอกจากนี้ จะเดินหน้าผลักดันการขึ้นทะเบียนสินค้า GI รายการใหม่ๆ , การขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ เช่น ไบโออีโคโนมี่ เศรษฐกิจสีเขียว และเศรษฐกิจแบ่งปัน รวมไปถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยบิ๊กดาต้า , การอำนวยความสะดวกทางการค้า จะมีการพัฒนานำเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการงานต่างๆ เพิ่มมากขึ้น , การดูแลราคาสินค้าและบริการ จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูแลค่าครองชีพ รวมถึงการสร้างความเป็นธรรมในการซื้อขายสินค้า เช่น โครการซื้อด้วยความมั่นใจ (BWC) , การส่งเสริมธุรกิจบริการ จะเน้นการพัฒนาธุรกิจบริการโลจิสติกส์ การขยายตลาดบริการ เช่น สุขภาพและความงาม ดิจิทัลคอนเทนต์ โลจิสติกส์การค้า และบริการสนับสนุน

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!