หมวดหมู่: พาณิชย์

1aaa Aoramon1


กรมเจรจาฯ ปลื้ม เอฟทีเอดันมูลค่าส่งออกเครื่องสำอางไทยพุ่งต่อเนื่อง ทำยอด 8 เดือนแรกปี 62 โต 11% ชี้เพิ่มโอกาสผู้ประกอบการไทยขยายส่งออกไปตลาดโลก

     กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ปลื้ม เอฟทีเอทลายกำแพงภาษีนำเข้าใน 18 ประเทศคู่ค้าสำคัญ ดันมูลค่าส่งออกเครื่องสำอางขยายตัวต่อเนื่อง สวนกระแสเศรษฐกิจโลกซบเซา 8 เดือนแรก ปี 62 เติบโตถึง 11 %

     นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สินค้าเครื่องสำอางเป็นหนึ่งในสินค้าที่น่าจับตามอง เนื่องจากมูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนกระแสกับสภาพเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค.-ส.ค.) ไทยส่งออกสินค้าเครื่องสำอางสู่ตลาดโลกมีมูลค่า 2,346.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับช่วง 8 เดือนแรกของปี 2561 ตลาดส่งออกที่สำคัญขยายตัวเกือบทุกตลาด อาทิ อาเซียน ขยายตัวร้อยละ 2 มีมูลค่าการส่งออก 651 ล้านเหรียญสหรัฐ ญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 0.1 มีมูลค่าการส่งออก 328 ล้านเหรียญสหรัฐ จีน ขยายตัวร้อยละ 26 มีมูลค่าการส่งออก 279 ล้านเหรียญสหรัฐ สหภาพยุโรป ขยายตัวร้อยละ 25 มีมูลค่าการส่งออก 140 ล้านเหรียญสหรัฐ อินเดีย ขยายตัวร้อยละ 90 มีมูลค่าการส่งออก 94 ล้านเหรียญสหรัฐ และเกาหลีใต้ ขยายตัวร้อยละ 10 มีมูลค่าการส่งออก 84 ล้านเหรียญสหรัฐ

     สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและตกแต่งใบหน้า ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับเส้นผม และวัตถุดิบที่ใช้ทำเครื่องสำอาง เช่น เอสเซนเชียลออยล์ เป็นต้น ซึ่งความตกลงการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ มีส่วนสำคัญที่ส่งเสริมให้การส่งออกสินค้าเครื่องสำอางของไทยเติบโต เพราะช่วยขจัดอุปสรรคภาษีนำเข้าในประเทศคู่ค้า โดยปัจจุบันสินค้าเครื่องสำอางของไทยทุกรายการไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าใน 14 ประเทศคู่ค้าที่ไทยมีเอฟทีเอด้วย ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และฮ่องกง ส่วนอีก 4 ประเทศคู่เอฟทีเอที่เหลือ ได้แก่ เกาหลีใต้ อินเดีย ชิลี และเปรู ได้ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องสำอางส่วนใหญ่ให้ไทยแล้ว แต่คงการเก็บภาษีนำเข้าบางรายการ

     นางอรมน เพิ่มเติมว่า เมื่อเปรียบเทียบสถิติมูลค่าการส่งออกสินค้าเครื่องสำอางของไทยสู่ตลาดโลกในปี 2561 กับปี  2535 ซึ่งเป็นปีก่อนที่ความตกลง FTA ฉบับแรกของไทยกับอาเซียนจะมีผลบังคับใช้ พบว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าเครื่องสำอางในปี 2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3,353  โดยเป็นมูลค่าการส่งออกสินค้าเครื่องสำอางจากไทยไปยัง 17 ประเทศ ที่ไทยมีเอฟทีเอด้วย (ยกเว้นฮ่องกง ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนมิถุนายน 2562) รวม 2,469.1 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80.40 ของการส่งออกสินค้าเครื่องสำอางของไทยทั้งหมด หากแยกรายตลาด พบว่าจากปีที่ความตกลงเอฟทีเอแต่ละฉบับมีผลใช้บังคับจนถึงปี 2561 มูลค่าการส่งออกสินค้าเครื่องสำอางของไทยไปประเทศคู่เอฟทีเอขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกตลาด เช่น อาเซียน ร้อยละ 4,565  จีน ร้อยละ 2,433 ออสเตรเลีย ร้อยละ 723 ญี่ปุ่น ร้อยละ 278  นิวซีแลนด์ ร้อยละ 266 อินเดีย ร้อยละ 159  และเกาหลีใต้ ร้อยละ 137 เป็นต้น สอดคล้องกับสถิติปี 2561 ที่สินค้าเครื่องสำอางเป็นหนึ่งในสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยขอใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอในการส่งออกมากเป็นอันดับต้น

     นางอรมน กล่าวทิ้งท้ายว่า เครื่องสำอางไทยมีจุดเด่นคือความแปลกใหม่และการมีส่วนผสมของสมุนไพรที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ประกอบกับการที่ผู้บริโภคหันมาสนใจเรื่องการรักษาผิวพรรณ สุขอนามัยและภาพลักษณ์ ทำให้ความต้องการสินค้าเครื่องสำอางในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต จึงถือเป็นโอกาสทองที่สินค้าเครื่องสำอางของไทยจะขยายตลาดไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งกรมฯ พร้อมเดินหน้าผลักดันให้ประเทศคู่ค้าเปิดตลาดสินค้าเครื่องสำอางเพิ่มเติมให้ไทยภายใต้การเจรจาเอฟทีเอกรอบต่างๆ ทั้งการทบทวนความตกลงเอฟทีเอที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน และความตกลงเอฟทีเอที่อยู่ระหว่างการเจรจา ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสทำให้การส่งออกเครื่องสำอางของไทยขยายตลาดและมูลค่าการส่งออกขึ้นอีกในอนาคต

พาณิชย์ เผยสถิติ 8 เดือนแรกปี 2562 การค้าไทยกับสมาชิกอาร์เซ็ป ชี้ ส่งออกอินเดียโดดเด่นท่ามกลางวิกฤตการค้าโลก

     กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ติดตามสถิติการค้าไทยกับสมาชิกอาร์เซ็ป 15 ประเทศ แนะจับตาส่งออกไปอินเดียขยายตัวเพิ่มท่ามกลางวิกฤตการค้าโลก ช่วง 8 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค.-ส.ค.) ขยายตัวร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561

     นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลการติดตามสถิติการค้าระหว่างไทยกับสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน อินเดีย ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ในช่วง 8 เดือนแรก (มกราคม-สิงหาคม) ของปี 2562 พบว่ามีมูลค่าการค้ารวม 191.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกจากไทย 94.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้า 97.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ

     นางอรมน เพิ่มเติมว่า สำหรับสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปยังสมาชิก RCEP ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2562 ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (11.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เม็ดพลาสติก (5.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ) และน้ำมันสำเร็จรูป (4.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ขณะที่ไทยมีสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (9.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ (8.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ) และเคมีภัณฑ์ (7.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ) โดยในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโลกและกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศนั้น อินเดียถือเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญและมีศักยภาพในการรองรับสินค้าจากไทย โดยไทยส่งออกไปอินเดีย มูลค่า 5.28 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 0.7 สินค้าที่ไทยส่งออกไปอินเดียในอันดับต้นๆ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

ais 790x90GC 790x90

sme 720x90banpu 720x90 new1 1

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!